เวนคืนกรมธรรม์ คืออะไร แล้วคุ้มค่าหรือไม่ที่เราจะยกเลิกกรมธรรม์!?

GUEST1649747579

สุดยอดขีดเีขียน (439)
เด็กใหม่ (0)
เด็กใหม่ (0)
POST:801
เมื่อ 10 เมษายน พ.ศ. 2566 14.27 น.

เวนคืนกรมธรรม์

 

บางคนอาจจะประสบปัญหาทางการเงิน จึงต้องกลับมาทบทวนการบริหารการเงินของตัวเองใหม่ โดยค่าใช้จ่ายใดที่ไม่จำเป็น หรือไม่สามารถแบกรับต่อไปไหวก็จำเป็นที่จะต้องตัดออก โดยประกันชีวิต มันจะเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่หลาย ๆ คนตัดสินใจขอยกเลิกกรมธรรม์ ด้วยการแจ้งเวนคืนกรมธรรม์กับบริษัทประกัน แล้วการเวนคืนกรมธรรม์มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร คุ้มค่าหรือไม่ที่เราจะยกเลิกกรมธรรม์ บทความนี้ จะพาคุณไปหาคำตอบกัน

 


 

การเวนคืนกรมธรรม์คืออะไร 

 

การเวนคืนกรมธรรม์ คือ การที่ผู้เอาประกันภัยขอยกเลิกกรมธรรม์ โดยผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินตามมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ที่กำหนดอยู่ในตารางมูลค่ากรมธรรม์จากบริษัทประกัน ซึ่งการเวนคืนดังกล่าว จะถือว่า ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ สัญญาหลัก และสัญญาเพิ่มเติมนั้น ได้สิ้นสุดลงตามมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ 

ทั้งนี้ เราจะสามารถเวนคืนกรมธรรม์ได้ ก็ต่อเมื่อกรมธรรม์มีมูลค่าเงินสดเกิดขึ้นแล้ว โดยทั่วไปมูลค่าเงินสดจะเกิดขึ้นในปีที่ 2 หรือมีการจ่ายชำระเบี้ยประกันไปแล้ว 2 ปี ซึ่งเราสามารถดูตารางมูลค่าเงินสด หรือมูลค่ากรมธรรม์นั้นจากเล่มกรมธรรม์ โดยจะแสดงมูลค่ากรมธรรม์ต่อจำนวนเงินต่อจำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000 บาท

ยกตัวอย่างเช่น เราต้องการเวนคืนกรมธรรม์ ณ สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 4 ซึ่งตารางมูลค่าเงินสด หรือมูลค่ากรมธรรม์แสดงมูลค่าเวนคืนเท่ากับ 79 บาท หมายความว่า เงินเอาประกันภัย 1,000 บาท กรมธรรม์นี้ มีมูลค่าเวนคืน 79 บาท ดังนั้น หากเราทำประกันชีวิตโดยมีทุนหรือจำนวนเงินเอาประกันภัย 1 ล้านบาท จะมีมูลค่าเวนคืนเท่ากับ 79,000 บาท โดยบริษัทประกันจะจ่ายเงินให้ผู้ทำประกันจำนวน 79,000 บาท

กล่าวได้ว่า การเวนคืนกรมธรรม์ คือ การยกเลิกกรมธรรม์ โดยที่เราจะได้รับเงินคืนตามมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ตามที่ได้ตกลงไว้กับบริษัทประกันนั่นเอง 

 


  

การเวนคืนกรมธรรม์มีข้อดีอย่างไร

 

ยกเลิกกรมธรรม์

 

เมื่อเราทราบความหมายของการเวนคืนกรมธรรม์กันไปแล้ว ว่าเป็นการการยกเลิกกรมธรรม์ ทีนี้ เราลองมาดูข้อดีของการเวนคืนกรมธรรม์กันบ้าง

 

  • เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการซื้อประกันชีวิตที่ผิด ด้วยหลาย ๆ คนอาจจะซื้อประกันชีวิตที่ผิดจากความตั้งใจแต่กรแก หรือตัดสินใจซื้อ เพราะความเกรงใจหรือถูกบังคับให้ซื้อ ดังนั้น การเวนคืนกรมธรรม์เดิม จึงเป็นการลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น และทำให้เราสามารถไปเลือกซื้อกรมธรรม์ใหม่ที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของตัวเองได้

  • หากรูปแบบของกรมธรรม์เดิมไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการ เช่น แต่เดิมเลือกซื้อกรมธรรม์ที่มีทุนประกันสูง ทำให้ต้องจ่ายเบี้ยประกันสูงตามไปด้วย แต่ในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ไม่จำเป็นต้องจ่ายเบี้ยประกันสูงเช่นเดิมอีกต่อไป การเวนคืนกรมธรรม์ก็จะช่วยลดภาระตรงนี้ไปได้

  • เมื่อเจอกรมธรรม์ใหม่ที่ให้ประโยชน์ครอบคลุมและมากกว่ากรมธรรม์เดิม จึงมีความต้องการที่จะเวนคืนกรมธรรม์เดิม เพื่อรับกรมธรรม์ใหม่ที่ดีกว่า เช่น แต่ก่อน เราเลือกซื้อประกันชีวิตที่คุ้มครองการศึกษาของลูก แต่เมื่อลูกสำเร็จการศึกษาเรียบร้อยแล้ว บิดามารดาก็เข้าสู่วัยเกษียณจึงขอเวนคืนกรมธรรม์เดิม เพื่อเปลี่ยนไปซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อสร้างกระแสเงินที่มั่นคงในยามเกษียณแทน

  • เป็นการปรับเปลี่ยนการบริหารรายจ่ายใหม่ เพราะภาระการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตไม่ควรเกิน 10% ของเงินได้สุทธิหลังหักภาษี อีกทั้งประกันชีวิตเป็นสัญญาการออมเงินระยะยาวที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา คือ ชำระเบี้ยในจำนวนและภายในเวลาที่กำหนด ดังนั้น หากเราพิจารณาความจำเป็นแล้ว พบว่า กรมธรรม์ที่ถือว่า เกินความจำเป็น ก็ควรเวนคืนกรมธรรม์ และเลือกซื้อกรมธรรม์ใหม่ที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุดแทน

 


  

ข้อเสียของการเวนคืนกรมธรรม์ คือ อะไร

 

เมื่อเราทราบข้อดีของการยกเลิกกรมธรรม์กันไปแล้ว เราลองมาดูข้อเสียของการเวนคืนกรมธรรม์กันต่อ ว่า ถ้าเราตัดสินใจเวนคืนแล้ว จะมีผลกระทบต่อตัวเราอย่างไรบ้าง

 

  • หากเราต้องการเวนคืนกรมธรรม์ ควรจะต้องเวนคืนหรือยกเลิกภายใน 15 วันหลังจากเซ็นรับเอกสารกรมธรรม์ประกันชีวิต เพราะถ้าหากเลย 15 วันไปแล้ว ก็จะได้มูลค่าเงินสด หรือเรียกว่า มูลค่าเงินเวนคืน โดยทั่วไปจะน้อยกว่าเบี้ยที่จ่ายไป ซึ่งเราสามารถตรวจสอบมูลค่าเงินสดได้จากตารางมูลค่ากรมธรรม์ประกันภัยในกรมธรรม์ประกันชีวิต

  • ในกรณีที่เราต้องการขอเวนคืนกรมธรรม์แล้วต้องการทำประกันแบบเดิม ก็จะทำให้เราต้องจ่ายเบี้ยที่แพงกว่าเดิมไปเรื่อย ๆ เนื่องจากเบี้ยประกันชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นอัตราคงที่ คือ ปีแรกจ่ายเบี้ยเท่าไหร่ก็จ่ายเท่ากันตลอดอายุกรมธรรม์ ทั้ง ๆ ที่ความจำเป็นหรือบริบทชีวิตได้แตกต่างออกไปจากเดิมแล้ว

  • หากเราตัดสินใจเวนคืนกรมธรรม์เดิม เพื่อทำประกันชีวิตใหม่ โดยเฉพาะประกันสุขภาพ ยิ่งเวลาที่เราอายุมากขึ้น ก็อาจจะมีปัญหาสุขภาพตามมามากขึ้น ก็จะทำให้บริษัทประกันชีวิตอาจจะไม่รับก็ได้ หรือถ้ารับก็ต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่ม หรือยกเว้นไม่คุ้มครองความเสียหายจากโรคที่เป็นอยู่ ในขณะที่ประกันชีวิตตัวเดิมอาจจะให้ความคุ้มครองทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่มีข้อยกเว้น

 


  

คุ้มหรือไม่ที่จะเวนคืนกรมธรรม์

การเวนคืนกรมธรรม์

ด้วยการที่เราจะยกเลิกกรมธรรม์เดิมนั้น ก็มาจากหลากหลายสาเหตุ แต่ที่เราต้องเข้าใจให้ตรงกัน คือ ปกติในช่วงปีแรก ๆ ของการทำประกัน มูลค่าเวนคืนที่เกิดขึ้นจะยังไม่มากนัก หากเวนคืนกรมธรรม์ในช่วงนี้ เงินที่จะได้รับจากการเวนคืนมักจะน้อยกว่าจำนวนเบี้ยที่จ่ายไป เมื่อเทียบกับการถือกรมธรรม์จนครบสัญญา ซึ่งเงินที่ได้รับจะสูงกว่าจำนวนเบี้ยที่จ่ายไป

และที่สำคัญในการยกเลิกกรมธรรม์ หากมีการทำสัญญาแนบท้ายกรมธรรม์ประกันชีวิตเอาไว้ เช่น ความคุ้มครองสุขภาพ ความคุ้มครองทุพพลภาพ เป็นต้น เมื่อเราตัดสินใจเวนคืนกรมธรรม์ที่เป็นสัญญาหลัก ความคุ้มครองในสัญญาแนบท้ายเหล่านี้ก็จะสิ้นสุดลงเช่นกัน

ดังนั้น หากสอบถามว่า การเวนคืนกรมธรรม์คุ้มค่าหรือไม่ เราจะต้องพิจารณาและตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้เสียก่อน ก่อนที่จะยกเลิกกรมธรรม์เดิม ได้แก่

 

  • ประกันใหม่ที่จะซื้อมีความเหมาะสมกว่าประกันเดิมหรือไม่?

  • ระยะเวลาความคุ้มครองเหมาะสมแค่ไหน? 

  • จำเป็นที่จะต้องตรวจสุขภาพตามที่บริษัทประกันแนะนำและมีโอกาสที่จะได้รับความคุ้มครองมากแค่ไหน? 

  • หากเวนคืนกรมธรรม์เดิมในช่วงเวลานี้ เราจะได้รับมูลค่าเงินสดคืนเท่าใด คุ้มกับที่จ่ายเบี้ยประกันไปหรือไม่?

  • เปรียบเทียบผลประโยชน์ของประกันเดิมและประกันใหม่ว่า ส่วนใดจะคุ้มค่ากว่ากัน?

 


  

สรุป

 

การเวนคืนกรมธรรม์ คือ การยกเลิกกรมธรรม์ โดยที่เราจะได้รับเงินคืนตามมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ตามที่ได้ตกลงไว้กับบริษัทประกัน ซึ่งมีข้อดี คือ ช่วยลดภาระที่ไม่จำเป็น แต่อาจจะทำให้เสียความคุ้มครองบางอย่างไปได้ ดังนั้น หากคุณจะตัดสินใจที่จะเวนคืนกรมธรรม์ ควรจะต้องศึกษาข้อมูลให้ดี เปรียบเทียบระหว่างกรมธรรม์เดิมและใหม่ว่า กรมธรรม์ใดจะคุ้มค่ากับเบี้ยประกันที่จ่ายไปมากกว่ากัน

 


 

โพสตอบ

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา