กระดูกเชิงกรานหัก อาการ วิธีรักษา วิธีป้องกันทำอย่างไร

GUEST1649747579

ขีดเขียนดีเด่น (369)
เด็กใหม่ (0)
เด็กใหม่ (0)
POST:691
เมื่อ 18 มกราคม พ.ศ. 2566 01.18 น.

กระดูกเชิงกรานหัก

 

กระดูก เป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญอย่างมาก ซึ่งจะประกอบขึ้นเพื่อทำหน้าที่หลักคือค้ำจุนเป็นโครงสร้างของร่างกาย การเคลื่อนไหว การสะสมแร่ธาตุและการสร้างเซลล์เม็ดเลือด โดยกระดูกในแต่ละส่วนของร่างกายจะมีชื่อเรียกต่างกันออกไป เช่น กระดูกต้นแขน กระดูกต้นขวา กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน เป็นต้น

โดยในบทความนี้ เราจะมาพูดถึงกระดูกเชิงกราน ซึ่งเป็นโครงสร้างกระดูกของร่างกายที่อยู่ปลายล่างของกระดูกสันหลัง จัดเป็นส่วนหนึ่งของโครงกระดูกรยางค์ ซึ่งกระดูกเชิงกรานจะประกอบด้วย กระดูกสะโพก กระดูกใต้กระเบนเหน็บ และกระดูกก้นกบ 

ปัญหาที่พบมากที่เกี่ยวกับกระดูกเชิงกราน คือ ปัญหากระดูกเชิงกรานหัก โดยเป็นปัญหาที่พบได้ทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งจะพบได้มากในผู้สูงอายุ เนื่องจากกระดูกมีการใช้งานมามากและเสื่อมสภาพลง เราจะมาหาตั้งแต่สาเหตุของกระดูกเชิงกรานหัก วิธีการรักษาและวิธีการป้องกันของกระดูกเชิงกรานหักกัน


 

กระดูกเชิงกรานหัก 

 

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น กระดูกเชิงกราน เป็นโครงสร้างกระดูกของร่างกายที่อยู่ปลายล่างของกระดูกสันหลัง จัดเป็นส่วนหนึ่งของโครงกระดูกรยางค์ ซึ่งกระดูกเชิงกรานจะประกอบด้วย กระดูกสะโพก กระดูกใต้กระเบนเหน็บ และกระดูกก้นกบ 

สามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับกระดูกเชิงกราน รวมถึงเรื่อง กระดูกเชิงกรานหัก ได้ที่นี่ 

โดยรายละเอียดของกระดูกเชิงกราน ได้แก่

รู้จักกระดูกเชิงกราน

 

รูปเอกซเรย์ของกระดูกเชิงกราน

 

กระดูกเชิงกราน (Pelvis) มีโครงสร้างแบบตามลักษณะรูปร่างออกได้เป็น 4 แบบ ได้แก่

  • เชิงกรานแบบชาย (android pelvis) เป็นรูปแบบปกติของเพศชาย เป็นรูปหัวใจ
  • เชิงกรานแบบหญิง (gynaecoid pelvis) เป็นรูปแบบปกติของเพศหญิง มีลักษณะกลม และเส้นผ่านศูนย์กลางกว้าง
  • เชิงกรานแบบแพลติเพลลอยด์ (platypelloid pelvis) มีเส้นผ่านศูนย์กลางในแนวขวางยาวกว่า
  • เชิงกรานแบบแอนโทรพอยด์ (anthropoid pelvis) มีเส้นผ่านศูนย์กลางในแนวหน้าหลังยาว

โดยมีความสำคัญต่อร่างกาย ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องอวัยวะภายในร่างกาย ไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนอวัยวะภายในได้ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในเรื่องของการควบคุมการเคลื่อนไหวของขาด้วย


 

กระดูกเชิงกรานหัก อาการเป็นอย่างไร

 

โดยผู้ที่มีภาวะกระดูกเชิงกรานหักนั้น จะมีอาการเช่น

  • ปวดบริเวณท้อง ขาหนีบ ปวดสะโพก หรือหลังส่วนล่าง หลังจากเกิดอุบัติเหตุ
  • รู้สึกปวดบริเวณกระดูกเชิงกรานเป็นอย่างมาก
  • พบว่ามีอาการปวดรุนแรงมากขึ้น เมื่อเดินหรือขยับขา
  • ไม่สามารถขยับร่างกาย ยืน เดิน ได้สะดวกเหมือนปกติ
  • เมื่อพยายามจะนั่ง รู้สึกเจ็บบริเวณก้นอย่างรุนแรง
  • จู่ ๆ เกิดอาการชา ที่บริเวณขาหนีบหรือขา
  • พบความยากลำบากในการขับถ่ายต่าง ๆ เช่น การอุจจาระ ปัสสาวะ


 

สาเหตุที่ทำให้กระดูกเชิงกรานหัก

 

สาเหตุที่ทำให้กระดูกเชิงกรานหัก โดยทั่วไปแล้ว มักจะเกิดจาก

กระดูกเชิงกรานหักจากอุบัติเหตุ

1. อุบัติเหตุ

 

การเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรง เช่น การตกจากที่สูง การประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ มีการกระทบกระเทือนบริเวณสะโพกอย่างรุนแรง เป็นต้น ซึ่งอุบัติเหตุเหล่านี้อาจส่งผลกระทบทำให้กระดูกเชิงกรานรับได้ไม่ไหว จนอาจทำให้กระดูกเชิงกรานหักได้

ซึ่งอุบัติเหตุนั้น สามารถเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา จึงสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ส่งผลให้เป็นสาเหตุหลัก ๆ ในการทำให้กระดูกเชิงกรานหักนั่นเอง 

2. ภาวะกระดูกพรุน

 

ภาวะกระดูกพรุน เป็นสาเหตุหนึ่งที่พบได้มากในผู้สูงอายุ เนื่องจากมีอายุที่มากขึ้น ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง มีความเปราะมากมากขึ้น แตกหักได้ง่าย แม้จะเป็นการล้มเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้ถึงขั้นกระดูกเชิงกรานหักได้ ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับผู้สูงอายุ จึงควรรีบแพทย์เพื่อทำการตรวจดูว่ามีภาวะกระดูกเชิงการหักหรือไม่


 

กระดูกเชิงกรานหักในผู้สูงอายุ

 

จากที่กล่าวไปข้างต้น กระดูกเชิงกรานหักในผู้สูงอายุนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เพราะกระดูกเชิงกรานมีความเปราะมากขึ้น ซึ่งเกิดจากภาวะกระดูกพรุน 


 

การวินิจฉัยอาการกระดูกเชิงกรานหัก

 

การวินิจฉัยของอาการกระดูกเชิงกรานหัก สามารถทำได้โดยการตรวจร่างกายอย่างละเอียดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทำเพื่อหาสาเหตุและวางแผนในการรักษาภาวะกระดูกเชิงกรานหัก โดยทั่วไปจะวินิจฉัยหลัก ๆ ดังนี้

 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กำลังดูวิธีการรักษากระดูกเชิงกรานหัก

 

1. การซักประวัติ

 

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการซักประวัติส่วนตัวของผู้ป่วย เช่น ชื่อ - นามสกุล อายุ น้ำหนัก โรคประจำตัว รายละเอียดของประวัติการเกิดอุบัติเหตุ ประวัติการได้รับการผ่าตัด ประวัติคนในครอบครัวว่ามีภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ วิถีการดำเนินชีวิต การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน เป็นต้น เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน จะได้หาสาเหตุของการเกิดกระดูกเชิงกรานหักได้อย่างแม่นยำ 

2. การตรวจร่างกาย

 

โดยการตรวจร่างกาย เป็นการตรวจเช็กร่างกายว่า นอกจากกระดูกเชิงกรานหักแล้ว ยังมีส่วนอื่นที่ผิดปกติอีกหรือไม่ เช่น การบาดเจ็บของอวัยวะหรือเส้นเลือดบริเวณกระดูกเชิงกราน เพื่อจะได้วางแผนการรักษาส่วนอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย

3. การเอกซเรย์ (X-Ray)

 

การเอกซเรย์ (X-Ray) เป็นการใช้รังสีเพื่อใช้ถ่ายภาพกระดูกเชิงกรานหัก เพื่อประเมินระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น และวางแผนการรักษาต่อไป

4. การตรวจ CT Scan

 

การตรวจร่างกายด้วย CT Scan เป็นการใช้รังสีเอกซเรย์หลาย ๆ ตัว ใช้ถ่ายภาพกระดูกเชิงกรานหัก ในมุมต่าง ๆ เพื่อทำให้ภาพที่ได้มีรายละเอียดชัดเจนมากขึ้น เพื่อประเมินระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้แม่นยำขึ้น และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลต่อไป


 

วิธีรักษาอาการกระดูกเชิงกรานหัก

 

โดยการรักษาอาการกระดูกเชิงกรานหัก จะมีวิธีรักษาหลัก ๆ อยู่ 2 ระยะ ดังต่อไปนี้ 

อาการกระดูกเชิงกรานหัก

การปฐมพยาบาลเมื่อกระดูกเชิงกรานหัก

 

โดยการปฐมพยาบาลเมื่อกระดูกเชิงกรานหักนั้น ในเบื้องต้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อที่จะทำให้อาการไม่แย่ลงไปกว่าเดิม ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

  1. ลดการขยับตัวของผู้ป่วย โดยขยับให้น้อยที่สุดและช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อทำให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บน้อยที่สุด
  2. ไม่ควรขยับผู้ป่วยหรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อป้องกันการเคลื่อนที่ของกระดูก
  3. รีบโทรประสานแจ้งโรงพยาบาล เพื่อส่งรถพยาบาลให้การช่วยเหลือ
  4. ใช้การประเมินเบื้องต้นด้วยสายตา หากมีบาดแผลให้ใช้ผ้าสะอาดปิดบริเวณบาดแผลไว้ก่อน
  5. ไม่ควรนวด บีบ หรือดัดส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผู้ป่วย
  6. หากพบว่ามีอาการปวด บวม ฟกช้ำ สามารถประคบเย็นบริเวณนั้น เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นได้

การผ่าตัดรักษากระดูกเชิงกรานหัก

 

การรักษากระดูกเชิงกรานหัก ด้วยการผ่าตัด

 

ในการผ่าตัดรักษากระดูกเชิงกรานหัก สามารถทำได้หลายวิธี โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการประเมินและเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายแต่ละบุคคล ดังนี้

  • การดึงถ่วงน้ำหนักผ่านกระดูก (Skeletal traction)

เป็นการใช้แรงดึงถ่วงน้ำหนักจากเหล็กที่มีการแทงผ่านกระดูก เพื่อทำให้กระดูกเชิงกรานที่หักเข้าที่ตำแหน่งเหมาะสมและการหดเกร็งกล้ามเนื้อ การปวด การบาดเจ็บต่าง ๆ จากกระดูกที่หักแบบไม่มั่นคง โดยสามารถดึงได้นาน 3 - 4 เดือน และใช้น้ำหนักไม่มาก (ไม่เกิน 1 ใน 6 ของน้ำหนักตัวผู้ป่วย)

  • การผ่าตัดยึดตรึงกระดูกเชิงกรานภายในร่างกายด้วยโลหะ (Open Reduction and Internal Fixation : ORIF)

เป็นการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ยึดกระดูกเชิงกรานบริเวณที่หักภายในร่างกาย เพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนที่ของกระดูก และช่วยในเรื่องของการสมานกระดูก โดยวิธีการนี้ อาจเหมาะกับผู้สูงอายุ หรือบุคคลที่กระดูกเชิงกรานหัก แล้วมีการบาดเจ็บของหลอดเลือดหรือเส้นประสาทร่วมด้วย

  • การผ่าตัดยึดกระดูกเชิงกรานจากภายนอก (External fixation)

เป็นการใช้อุปกรณ์อย่างหมุดโลหะ (Metal pin) และสกรู (screw) ยึดตรึงกระดูกเชิงกรานให้คงที่และอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมจากอุปกรณ์ภายนอกร่างกายของผู้ป่วย โดยจะทำการใส่หมุดโลหะหรือสกรูเข้าไปยังกระดูกบริเวณนั้นๆ ผ่านแผลขนาดเล็ก 

ซึ่งลักษณะของหมุดโลหะหรือสกรู จะมีการยื่นออกมาติดกับแท่งคาร์บอนไฟเบอร์ที่ยึดอยู่ภายนอกร่างกาย เหมาะสำหรับผู้ที่กระดูกเชิงกรานหักแบบมีแผลเปิด มีการอักเสบ ติดเชื้อ หรือกระดูกเชิงกรานหักหลายจุด


 

ภาวะแทรกซ้อนจากกระดูกเชิงกรานหัก

 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากกระดูกเชิงกรานหัก มีได้ดังนี้

  • อวัยวะข้างเคียง เส้นประสาท หรือหลอดเลือดบริเวณนั้นเกิดความเสียหาย
  • เกิดการบาดเจ็บหลาย ๆ ระบบ ทำให้อาการรุนแรงขึ้น จนอาจเสียชีวิต
  • เกิดการติดเชื้อรุนแรง
  • มีเลือดออกอย่างมาก
  • มีอาการปวดเรื้อรัง
  • ลิ่มเลือดอุดตัน
  • ความผิดปกติทางเพศ (Sexual dysfunction)
  • เกิดความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวกเหมือนดั่งเดิม


 

แนวทางการป้องกันกระดูกเชิงกรานหัก

 

ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ กระดูกเชิงกรานแข็งแรง

 

โดยแนวทางการป้องกันกระดูกเชิงกรานหักนั้น สามารถทำได้ด้วยตนเอง มีดังนี้

  • มีความระมัดระวังในการขับรถยนต์ให้ปลอดภัย สังเกตความผิดปกติหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ บริเวณโดยรอบรถยนต์ ไม่ใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด งดการใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ เป็นต้น
  • การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือการเดินในผู้สูงอายุ เช่น วอล์คเกอร์ ไม้เท้า เพื่อป้องกันการหกล้ม
  • มีการเตรียมความพร้อมก่อนการออกกำลังกาย ด้วยการยืดกล้ามเนื้อต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นขณะเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย
  • มีการตรวจสอบบันไดพาด หรือบันไดพับพกพา ให้มีความแข็งแรง และใช้ให้เหมาะสมกับงาน

แนวทางการดูแลกระดูกเชิงกรานให้แข็งแรง เช่น

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากสารภายในควันบุหรี่อาจรบกวนการทำงานของเซลล์ที่สร้างกระดูก ทำให้กระดูกมีความแข็งแรงลดลง
  • ออกกำลังกาย จะสามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกได้
  • ลดการรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็มมากเกินไป เพราะจะทำให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้ลดลง
  • รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ให้ร่างกายได้รับสารอาหารและวิตามินที่เพียงพอต่อการใช้งาน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอลล์ ชา กาแฟ เนื่องจากอาจเข้าไปรบกวนการดูดซึมแคลเซียมและทำให้เกิดการขาดสารอาหารขึ้น


 

คำถามที่พบบ่อย

 

คำถามที่พบบ่อย ซึ่งเกี่ยวกับกระดูกเชิงการหัก ได้แก่

กระดูกเชิงกรานหัก เดินได้ไหม

 

ซึ่งในปกติก็สามารถเดินได้ แต่จะเดินได้ไม่ค่อยสะดวก จึงอาจจะต้องรอให้กระดูกเชิงกรานมีการซ่อมแซมจนมีความแข็งแรงเสียก่อน โดยขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่หัก และวิธีการรักษา

กระดูกเชิงกรานหัก รักษานานไหม

 

โดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลาในการรักษาอยู่ที่ประมาณ 8-12 สัปดาห์ แต่ถ้าหากบุคคลนั้นมีภาวะกระดูกเชิงกรานหักระดับรุนแรง ก็อาจจะต้องใช้เวลาในการรักษานานยิ่งขึ้น แล้วแต่ละตัวบุคคล


 

ข้อสรุป

 

ภาวะกระดูกเชิงกรานหัก เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อุบัติเหตุ ภาวะกระดูกพรุน วิถีการดำเนินชีวิต เป็นต้น ซึ่งมักเกิดในผู้สูงอายุที่มวลกระดูกมีความแข็งแรงลดลง จึงทำให้ถึงแม้ว่าจะได้รับการกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อย ก็สามารถเกิดภาวะนี้ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อรู้สึกผิดปกติบริเวณกระดูกเชิงกราน แล้วเหมือนจะเป็นภาวะกระดูกเชิงกรานหัก ควรรีบเข้ารับการตรวจร่างกาย เพื่อที่จะได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

แก้ไขครั้งที่ 1 โดย GUEST1649747579 เมื่อ18 มกราคม พ.ศ. 2566 01.24 น.

โพสตอบ

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา