เอธิโอเปีย : จากความอดอยากสู่เศรษฐกิจเติบโต แล้ววกสู่สงครามระหว่างเชื้อชาติ และความอดอยาก
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวดีหลายเรื่องเกี่ยวกับเอธิโอเปีย ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และการปฏิรูปประชาธิปไตย
เอธิโอเปียในปัจจุบันห่างไกลจากตอนที่เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกเมื่อหลายสิบปีก่อน
ในทศวรรษ 1980 เอธิโอเปียเผชิญกับวิกฤตความอดอยากและขาดแคลนอาหาร ซึ่งนับเป็นสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของศตวรรษที่ 20 ภาวะขาดแคลนอาหารระหว่างปี 1983-1985 ทำให้ผู้คนเกือบ 1 ล้านชีวิตต้องตายลง
ขณะนี้เอธิโอเปียกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมอีกครั้งในภูมิภาคทีเกรย์ทางตอนเหนือของประเทศ
องค์กรความช่วยเหลือหลายแห่ง ระบุว่า มีประชาชนเสียชีวิตแล้วหลายพันคน หลายล้านคนต้องพลัดถิ่นฐาน และอีกหลายแสนคนในทีเกรย์กำลังเผชิญกับความอดอยาก
ความคืบหน้าเมื่อไม่นานนี้ รัฐบาลเอธิโอเปียได้ประกาศภาวะฉุกเฉินไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ขอให้ผู้อาศัยอยู่ในกรุงแอดดิส อาบาบา ติดอาวุธตัวเอง เพื่อเตรียมตัวรับมือ หลังจากมีการอ้างว่า แนวร่วมปลดปล่อยประชาชนทีเกรย์ (Tigray People's Liberation Front--TPLF) ได้ยึดเมือง 2 แห่งที่อยู่ห่างจากกรุงแอดดิส อาบาบา ราว 400 กม.
นี่คือสถานการณ์ที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาในอนาคตทั้งในเอธิโอเปียและประเทศเพื่อนบ้านได้ ลองมาดูกันว่า กำลังเกิดอะไรขึ้น และเอธิโอเปียมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
การสู้รบในทีเกรย์เลวร้ายแค่ไหน
สงครามเริ่มขึ้นเมื่อ 4 พ.ย. 2020 หลังจากที่นายกรัฐมนตรีอาบีย์ อาห์เหม็ด ของเอธิโอเปีย ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2019 สั่งให้กองทัพของรัฐบาลต่อต้านกองกำลังในภูมิภาคทีเกรย์
ช่วงแรก กองกำลังของรัฐบาลจำกัดเส้นทางของกลุ่มกบฏได้ แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปในเดือน มิ.ย. เมื่อนักรบทีเกรย์สามารถยึดดินแดนที่มีความสำคัญได้
มีรายงานว่า ขณะนี้พวกเขากำลังเคลื่อนกำลังเข้าใกล้กรุงแอดดิส อาบาบา เมืองหลวงของเอธิโอเปียแล้ว
รัฐบาลกลางได้ปิดกั้นการรายงานของสื่อในทีเกรย์ แต่สหประชาชาติระบุว่า ประชากรส่วนใหญ่จากจำนวน 7 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคดังกล่าว กำลังต้องการอาหารและความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยมีคนอย่างน้อย 400,000 คน กำลังเผชิญกับความอดอยาก ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รัฐบาลเอธิโอเปียปฏิเสธ
ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนและเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่
เมื่อ 3 พ.ย. รายงานร่วมของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอธิโอเปีย (Ethiopian Human Rights Commission--EHRC) และสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Office) ระบุว่า มีหลักฐานตัวอย่างของการไล่ล่าสังหารนอกกฎหมาย, ทรมาน, ข่มขืน และการโจมตี ต่อกลุ่มผู้ลี้ภัยและประชาชนที่พลัดถิ่นฐาน ซึ่งอาจเทียบเท่ากับอาชญากรรมสงคราม
ทั้งรัฐบาลและ TPLF ต่างวิพากษ์วิจารณ์รายงานนี้
เกิดอะไรขึ้นในตอนนี้
ความตึงเครียดในทีเกรย์ไม่ใช่เรื่องใหม่
มีประชาชนอาศัยอยู่ในทีเกรย์ราว 5-7 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมดของเอธิโอเปียประมาณ 115 ล้านคน
ชาวทีเกรย์เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของเอธิโอเปีย รองจากชาวโอโรโมและชาวอัมฮารา เอธิโอเปียแบ่งออกเป็น 10 รัฐในภูมิภาคต่าง ๆ ตามลักษณะของกลุ่มชาติพันธุ์ และมีอำนาจในการปกครองตัวเองอย่างมาก แต่มีรัฐบาลกลางร่วมกัน
มีความไม่พอใจรัฐบาลกลางอย่างรุนแรงในภูมิภาคนี้ ซึ่งเผชิญความทุกย์ยากในช่วงการปกครองของทหารและสงครามกลางเมืองอันยาวนาน หลังจากที่มีการทำรัฐประหารของฝ่ายสังคมนิยมในปี 1974 ซึ่งได้โค่นล้ม ไฮลี เซลาซี จักรพรรดิองค์สุดท้ายของเอธิโอเปีย
ทีเกรย์เป็นศูนย์กลางของความอดอยากของประเทศ ระหว่างปี 1983-1985 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ล้านคน และพลัดถิ่นมากกว่า 2 ล้านคน
หลังจากค่อนข้างมีเสถียรภาพมานานหลายสิบปี การสู้รบปะทุขึ้นอีกครั้งระหว่างทหารของรัฐบาลภูมิภาคทีเกรย์และรัฐบาลกลาง
แต่ความขัดแย้งนี้ได้ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในเอธิโอเปียแตกแยกกัน ก่อนหน้านี้ในสัปดาห์นี้ ฟานา ทีวี (Fana TV) ซึ่งเป็นของรัฐ ได้รายงานว่า รัฐบาลในภูมิภาค 4 แห่งจาก 10 แห่งของประเทศได้เรียกร้องให้พลเมืองของตัวเองเคลื่อนกำลังต่อสู้ต้านกองกำลังของทีเกรย์เช่นกัน
ในเดือน ส.ค. กองทัพปลดปล่อยโอโรโม (Oromo Liberation Army—OLA) ประกาศเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการร่วมกับฝ่ายกลุ่มกบฏทีเกรย์ต่อต้านรัฐบาล
โดยฝ่ายโอโรโมได้มีการต่อต้านรัฐบาลกลางอยู่แล้ว
ทำไมจึงมีการสู้รบ
กองกำลังติดอาวุธ TPLF เป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วมพันธมิตรที่โค่นล้มรัฐบาลเดิมในปี 1991
หลังจากนั้น TPLF ได้ครอบงำการเมืองของเอธิโอเปียทั้งประเทศมานานเกือบ 20 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาของรัฐบาลเผด็จการที่ไม่ทนรับฟังเสียงคัดค้านใด ๆ
TPLF ยังคงเป็นกองกำลังที่มีอิทธิพลในการเมืองของเอธิโอเปียจนกระทั่งปี 2019 นายกรัฐมนตรีอาห์เหม็ด ได้ตั้งพรรคการเมืองใหม่ ซึ่ง TPLF ไม่ยอมเข้าร่วม
ทางกลุ่มยังคงมีอำนาจในทีเกรย์ และในเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว ได้แสดงการขัดขืนต่อรัฐบาลของนายอาห์เหม็ด ด้วยการจัดการเลือกตั้งขึ้น ทั้งที่การเลือกตั้งทั่วประเทศถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19
สองเดือนต่อมา ทหารของ TPLF ได้เปิดฉากโจมตีฐานทัพของกองทัพเอธิโอเปียในพื้นที่ รัฐบาลกลางจึงตอบโต้ด้วยการส่งทหารบุกทีเกรย์ครั้งใหญ่
เมื่อ 18 ต.ค. รัฐบาลเอธิโอเปีย ยอมรับว่า อยู่เบื้องหลังการโจมตีทางอากาศในเมืองมีเคลลี เมืองหลวงของทีเกรย์ ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากปฏิเสธการโจมตีที่ฝ่ายกบฏระบุว่า ทำให้มีผู้เสียชีวิต
เสถียรภาพในแอฟริกาตะวันออก
วิกฤตนี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อในเอธิโอเปียเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยมีผู้ลี้ภัยนับหมื่นคนได้ข้ามพรมแดนเข้าไปในซูดานแล้ว
ทหารจากเอริเทรีย ประเทศเพื่อนบ้านได้เข้าร่วมการโจมตีต่อต้านกลุ่มกบฏ TPLF และถูกกล่าวหาว่า กระทำการอันโหดร้ายทารุณ สถานะปัจจุบันของพวกเขาในทีเกรย์ยังคงไม่ชัดเจน แต่เจ้าหน้าที่องค์การความช่วยเหลือ กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในเดือน ต.ค. ว่า ทหารเอริเทรียยังคงอยู่ในเอธิโอเปียและเข้าร่วมในความขัดแย้งครั้งนี้
นอกจากนี้ยังมีอันตรายจากการที่รัฐบาลกลางพุ่งความสนใจไปที่ทีเกรย์ อาจจะทำให้การสนับสนุนรัฐบาลโซมาเลียต่อต้านกลุ่มติดอาวุธอัล-ชาบับ อ่อนแอลงได้
ราชิด อับดี นักวิเคราะห์ด้านจะงอยแอฟริกา (Horn of Africa) เตือนว่า ความขัดแย้งนี้อาจจะทำให้เอธิโอเปียอ่อนแอลง ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อภูมิภาคโดยรวม ยกตัวอย่าง อาจจะเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มอื่น ๆ ในประเทศที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายพยายามที่จะลุกขึ้นต่อสู้และกำจัดรัฐบาลกลางเช่นกัน
นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ได้เตือนว่า "เสถียรภาพของเอธิโอเปียมีความสำคัญต่อภูมิภาคจะงอยแอฟริกาทั้งภูมิภาค" ก่อนหน้านี้กูเตอร์เรสเคยขอ "ให้มีการเจรจาแห่งชาติที่เปิดกว้างเพื่อแก้วิกฤตนี้และวางรากฐานของสันติภาพและเสถียรภาพทั่วประเทศ"
ในแถลงการณ์ที่ออกมาเมื่อ 2 พ.ย. โฆษกสหประชาชาติระบุว่า "ความมั่นคงของเอธิโอเปียและภูมิภาคที่กว้างไกลออกไปตกอยู่ในความเสี่ยง" และเรียกร้องให้มีการยุติการมุ่งร้ายกันในทันที และขอให้มีการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในภูมิภาคต่าง ๆ ทางตอนเหนือโดยไม่มีข้อจำกัดทั้งทีเกรย์, อัมฮารา และอาฟาร์
ประชาคมโลกพูดถึงเรื่องนี้อย่างไร
สหรัฐฯ ได้ส่งคำเตือนไปยังกลุ่มกบฏทีเกรย์แล้ว และเรียกร้องให้พวกเขาอย่าพยายามยึดกรุงแอดดิส อาบาบา
"เราต่อต้านการเคลื่อนไหวของ TPLF ไปยังแอดดิส หรือการเคลื่อนไหวใด ๆ ของ TPLF ในการปิดล้อมแอดดิส" เจฟฟรีย์ เฟลต์เมน ทูตพิเศษสหรัฐฯ ประจำจะงอยแอฟริกา กล่าว
แต่เมื่อ 2 พ.ย. ประธานาธิบดีโจ ไบเดิน ของสหรัฐฯ ได้ประกาศถอดเอธิโอเปียออกจากข้อตกลงทางการค้าที่มีความสำคัญฉบับหนึ่ง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการสู้รบในประเทศ
การตัดสินใจในการถอดชื่อเอธิโอเปีย รวมถึงประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการทำรัฐประหารอย่างกินีและมาลี ออกไปจากกฎหมายการเติบโตและโอกาสของแอฟริกา (African Growth and Opportunity Act--AGOA) เกิดขึ้นหลังจากมีการเตือนนายกรัฐมนตรีอาห์เหม็ดแล้วหลายครั้ง
ในการแจ้งต่อรัฐสภา นายไบเดนกล่าวว่า สิทธิของเอธิโอเปียจะยุติลงในวันที่ 1 ม.ค. "เนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่นานาประเทศให้การยอมรับหลายอย่าง"
จนถึงขณะนี้ รัฐบาลเอธิโอเปียยังไม่ยอมรับข้อเรียกร้องให้มีการแทรกแซงทางการทูต แต่กลับเปิดฉากโจมตีที่มีเป้าหมายในการบอกประชาคมโลกว่า นี่เป็นกิจการภายใน ซึ่งเอธิโอเปียสามารถจัดการแก้ปัญหาได้
เมื่อ 3 พ.ย. นายกรัฐมนตรีอาบีย์ อาห์เหม็ด ให้คำมั่นว่า จะฝังศัตรูของรัฐบาลของเขา "ด้วยเลือดของเรา" ขณะที่เขากล่าว ในวาระครบรอบ 1 ปีการเริ่มต้นขึ้นของสงครามนี้
ที่มา BBC
สนุกกับ Lucabet โปรโมชั่นสุดปัง ถอนสูงสุด 3,000,000
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้