ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ได้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างแท้จริงหรือ ?
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ได้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างแท้จริงหรือ ?
แถลงการณ์ของพรรคร่วมรัฐบาล เรื่อง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม
สภาพปัญหา สังคมไทยเกิดความขัดแย้ง แตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งที่ฝังลึกในสังคมไทย ทำให้เกิดการกระทำและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ขัดต่อกฎหมาย เป็นผลให้เกิดการดำเนินคดี ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน เพียงเพราะมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ประชาชนส่วนใหญ่เบื่อหน่ายกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ต่างมีความต้องการที่จะให้ประเทศชาติหลุดพ้นจากวิกฤตดังกล่าว ต้องการเห็นคนในสังคมไทยมีความปรองดอง สมานฉันท์ ประชาชนจำนวนมากต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา มีทั้งถูกจำคุก ไม่ได้ประกันตัว และหลบหนี ส่งผลให้เผชิญกับความทุกข์ยากลำบาก ขาดความเป็นอิสระ พลัดพรากจากครอบครัว และสูญเสียอาชีพการงาน และบางส่วนยังมีผลกระทบไปถึงบุคคลในครอบครัว เกิดสภาพบ้านแตกหรือเป็นภาระที่ทำให้การดำเนินชีวิตของครอบครัว ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤต เกิดปัญหาครอบครัว ส่งผลให้เกิดปัญหาในสังคม
แนวทางแก้ไข
พรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาฝังลึกดังกล่าวคือ การให้โอกาสประชาชน เป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย เป็นการลดความขัดแย้งทางการเมือง อันจะเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ประเทศไทยมีบทเรียนจากการแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงมาแล้ว (การปฏิวัติ การสลายการชุมนุม) ซึ่งล้วนแต่เป็นการเพิ่มความขัดแย้ง เพิ่มความไม่เข้าใจกัน การให้โอกาสประชาชนดังกล่าว คือการแก้ปัญหาโดยการให้อภัยทุกฝ่าย ไม่ใช้ความอาฆาตแค้นพรรคร่วมรัฐบาลจึงเห็นพ้องต้องกันว่า สภาผู้แทนราษฎรควรจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง
การแสดงออกทางการเมืองของประเทศ พ.ศ. .... (ร่างของนายวรชัย เหมะและคณะ)
โดยสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีหลักการสำคัญที่จะ
นิรโทษกรรมประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ทุกสี ทุกฝ่าย อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ถือเป็นวาระปกติ โดยพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่นำร่างพระราชบัญญัติอื่นๆ ในทำนองเดียวกันมาพิจารณาร่วมด้วย และใช้วิธีพิจารณาตามข้อบังคับปกติทั่วไป โดยไม่มีข้อยกเว้นหรือเร่งรัดใดๆ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด
ทำความเข้าใจพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม
พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะและคณะ มีหลักการคือ “ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว” ซึ่งเป็นการนิรโทษกรรมให้ประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับแกนนำและผู้สั่งการ
คดีที่ติดค้างกับประชาชนทั้งสองฝ่าย ร้ายแรงไม่แพ้กัน เช่น การก่อการร้าย การยึดสนามบิน ถ้าปล่อยไว้จะกลายเป็นชนักติดหลัง ความสงบจะเกิดขึ้นยาก พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงนิรโทษกรรมให้ “ ประชาชนทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกข้างใดๆ ทั้งสิ้น ”
ผลที่ได้รับ
เมื่อสังคมมีความสงบสุข ความขัดแย้งทางการเมืองลดน้อยลง จึงเป็นโอกาสของประเทศในการเข้าสู่ความสงบเรียบร้อย มีความมั่นคงหลังจากเราสูญเสียโอกาสแห่งความเจริญก้าวหน้ามาเป็นเวลานาน ซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีเสถียรภาพ นำประเทศกลับไปสู่ครั้งอดีต เกิดความรัก ความสามัคคีกัน ของคนในชาติ
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้