ปริศนาดาววิมุตติ

-

เขียนโดย อิงสรวง

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เวลา 16.31 น.

  4 ตอน
  0 วิจารณ์
  2,960 อ่าน
แชร์นิยาย Share Share Share

 

2) เล่ม 1 ตอนหอคอยห้องสมุด 1.2. แฮ็มกะแป็ง (พระเอกหรือเปล่าเนี่ย?)

อ่านบทความตามต้นฉบับ อ่านบทความเฉพาะข้อความ

          หน้าห้องนั้นมีป้ายชื่อแขวนอยู่ที่ประตูว่า “หัวหน้าฝ่ายวิชาการและพัฒนาศักยภาพ”  นักเรียนชายผู้นั้นหยุดอยู่หน้าห้อง แล้วก้มมองผ่านกระจกประตูสีชาหน้าห้องก่อนที่จะเคาะประตูเบา ๆ 

          “ก๊อก ก๊อก”

 

           “เอ้า เข้ามาสิ แฮ็มกะแป็ง !” เสียงอนุญาตของผู้ชายคนหนึ่งดังออกจากห้องนั้น

 

          ‘แฮ็มกะแป็ง’ หรือ “อธิศ” ที่มีชื่อเล่นยาวกว่าชื่อจริง เดินเข้ามาด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เขาใส่ชุดนักเรียนสะอาดตา เสื้อสีขาว กางเกงสีน้ำเงินขาสั้นเหนือเข่า สะพายเป้สีเทาคู่ใจไว้ที่หลัง แฮ็มกะแป็งค่อย ๆ เปิดประตูออก ถือแฟ้มเล่มหนาเดินเข้าไปหาอาจารย์ในห้องทำงานอย่างสุภาพนอบน้อม

          “อาจารย์วิชชาครับ ผมทำข้อมูลนักเรียนใหม่ของปีนี้เสร็จแล้วครับ”

 

          “เพิ่งเลิกเรียนวิชาสุดท้ายไม่ใช่หรือ?” เสียงอาจารย์วิชชา เจ้าของห้องทำงานนั้นกล่าวถามขึ้นอย่างอ่อนโยน เขามองดูเวลาที่นาฬิกาแขวนตรงหน้า “เที่ยงครึ่งแล้ว เธอทานข้าวกลางวันแล้วหรือยัง แฮ็มกะแป็ง?” 

 

          “ยังครับ ผมเอางานมาส่งอาจารย์ก่อน แล้วค่อยลงไปทานครับ วันนี้วันศุกร์เรียนครึ่งวัน ผมทานข้าวกลางวันแล้วจะเข้าห้องกิจกรรม เปิดเทอมศุกร์แรก มีนักเรียนใหม่หลายคนสนใจกิจกรรมพิเศษของเราครับ บุ๋นกับอาเธอร์กำลังพรีเซ้นท์งานชวนนักเรียนใหม่เข้าร่วมกิจกรรมกันอยู่ครับ สักเดี๋ยวค่อยไปทานพร้อมกันครับอาจารย์”

 

          “ขอบใจเธอมากนะแฮ็มกะแป็ง” อาจารย์วิชชาเรียกชื่อเล่นของเด็กนักเรียนบ่อยกว่าเรียกชื่อจริง แสดงให้เห็นถึงความสนิทสนมกับพวกนักเรียน “ครูได้พวกเธอมาช่วยงานโครงการกิจกรรมพิเศษ ทำให้โครงการใหม่ ๆ ของโรงเรียนสำเร็จไปมากทีเดียว”

 

          “พวกผมต่างหากต้องขอบพระคุณอาจารย์ที่ช่วยคิดช่วยทำกิจกรรมดี ๆ หลายอย่าง ทำให้พวกผมสนุกกับการเรียน และก็อยากมาโรงเรียนทุกวันเลยครับ” 

 

          อาจารย์วิชชาแววตาแจ่มใส “จริงหรือ? ดีมากเลย ครูเองก็ดีใจที่ได้ทำให้พวกเราสนุกกับการมาโรงเรียน และดีใจที่พวกเรากระตือรือร้นเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ค้นพบศักยภาพของตัวเอง และมุ่งมั่นจะสร้างฝันให้สำเร็จ”

 

           “จริงครับอาจารย์  ผมเห็นอาเธอร์เข้าไปในห้องศิลปะทุกเวลาที่ว่างเรียน นั่งวาดรูปไม่ไปไหน รูปสีน้ำของอาเธอร์สวยจริง ๆ นะครับอาจารย์ บุ๋นก็สนุกกับงานธุรกิจสตาร์ทอัพ  เพิ่งปิ๊งไอเดียเอารูปสีน้ำของอาเธอร์ไปใส่กรอบพลาสติก ตั้งขายอยู่หน้าห้องกิจกรรม”

 

          อาจารย์วิชชามีสีหน้ายินดีอย่างยิ่ง “นายบุ๋นนี่คิดทำการค้าขายเก่งไม่ใช่เล่น แล้วนักเรียนคนอื่นว่าอย่างไรกันบ้างล่ะ?” 

 

          แฮ็มกะแป็งตอบว่า “เห็นบุ๋นกับกลุ่มนักเรียนสมาชิกธุรกิจสตาร์ทอัพกำลังปรึกษากันว่าจะเอาภาพสีน้ำของอาเธอร์ไปคุยกับมูลนิธิฯ ให้เอาไปช่วยขาย หักกำไรบางส่วนแล้วมอบให้เป็นทุนการศึกษาเด็กที่ขาดแคลน  อาจารย์ช่วยคุยกับมูลนิธิฯให้ด้วยได้ไหมครับ”  

 

           แฮ็มกะแป็งรายงานความคืบหน้าของกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพให้อาจารย์วิชชาฟังอย่างตื่นเต้น

 

          “เอาสิ.. เอา แล้วตอนจะไปคุยกับทางมูลนิธิ จะให้ครูช่วยประสานอย่างไรให้ก็บอกมาเลยนะ” อาจารย์วิชชาพูดยิ้มๆ รู้สึกภาคภูมิใจในผลงานที่เด็ก ๆ สร้าง “แต่กระซิบนายบุ๋นหน่อยนะว่าอย่าเน้นธุรกิจกำไรให้มากนัก ให้ช่วยผลักดันน้อง ๆ ให้มีเกิดการเรียนรู้ช่องทางต่าง ๆ มากกว่าจะไปทำการค้าหากำไรอย่างเดียว ประเดี๋ยวทางผู้ใหญ่เขาจะติมาว่าเรามุ่งทำการค้ามากกว่าส่งเสริมด้านการศึกษา”

 

          “ครับ  แล้วผมจะเตือนบุ๋นถึงจุดมุ่งหมายของกิจกรรม  อันที่จริง ผมก็ห่วงเจ้าบุ๋นอีกเรื่องหนึ่ง ตอนทำงานกับเพื่อน ๆ บางทีพูดอะไรแรงไปหน่อย ชอบเผลอดูถูกความคิดเพื่อนๆ ไปหลายครั้ง กลัวเพื่อนๆ และรุ่นน้องจะไม่พอใจ”

 

          “ครูก็เคยสังเกตเห็น แต่ก็ไม่ค่อยเห็นบุ๋นผิดใจกับใครเลยนะ อาจเป็นเพราะความจริงใจของบุ๋นที่มีมากกว่ากระมัง เพื่อน ๆ น้อง ๆ เลยไม่ถือสา” อาจารย์วิชชาตั้งข้อสังเกต 

 

          แฮ็มกะแป็งส่ายหน้าช้า ๆ “ก็คงจะมีแต่อาเธอร์คนเดียวล่ะครับที่ไม่เคยว่าอะไร ผมเตือนเจ้าบุ๋นหลายครั้งที่ชอบพูดอะไรไม่ค่อยได้คิด อันที่จริง ผมก็รู้ว่าบุ๋นไม่ได้คิดตั้งใจทำร้ายน้ำใจเพื่อนฝูงเลย แต่ก็ไม่คิดว่าคำพูดบางคำจะทำให้ใครเขาไม่พอใจ คือตัวเองพูดเลยไม่รู้ตัวน่ะครับ”

 

          “อย่างนี้แหละ คนเก่งก็มีอีโก้เป็นเรื่องธรรมดา เจ้าบุ๋นเป็นพวกที่เขาเรียกว่า เซลฟ์ โฟกัส คือตัวเองเป็นศูนย์กลาง จดจ่อสนใจแต่เรื่องตัวเอง จึงละเลยที่จะคิดถึงใจคนอื่น เราเป็นเพื่อนสนิทเขา ก็ต้องค่อยๆ ตักเตือนเขา ให้เขาพัฒนาแก้ไขข้อเสียนี้ คนเราไม่มีใครสมบูรณ์แบบไปหมดหรอก มีทั้งด้านดีและด้านที่ต้องปรับปรุง”

 

          แฮ็มกะแป็งพยักหน้ารับคำ 

 

          อาจารย์วิชชากล่าวต่อ “ในความเห็นของครูนะ คนเราต้องรู้จักตัวเอง รู้จักข้อดีและข้อเสียของตน มีข้อดีก็ต้องรักษาไว้ มีข้อเสียก็ต้องแก้ไข บุ๋นเป็นคนเก่งและมีน้ำใจ แต่ความที่ค่อนข้างเอาความคิดของตนเป็นใหญ่ และพูดจาไม่ค่อยระวัง เลยทำให้บางคนลืมมองเห็นน้ำใจของเขาได้ พอพูดอะไรไม่เข้าหูคน ก็อาจทำให้คนรักน้อย คนเกลียดเยอะ” อาจารย์วิชชากล่าว

 

          “อย่างคำพังเพยที่ว่า คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อใช่ไหมครับ?”

 

          “ก็น่าจะใช่นะ นั่นหมายถึงคนรักเรามีน้อย คนชังมีมาก แต่เราก็ไม่ควรทำให้คนรักยิ่งมีน้อยลงไปอีก” อาจารย์วิชชาพูดต่อ “ว่าไปแล้ว คำพังเพยนี้ก็เป็นสุภาษิตที่น่าคิดนะ ผืนหนังน่ะมีค่ากว่าผืนเสื่อ เธอว่าไหมแฮ็มกะแป็ง? คนรักน่ะมีค่าเทียบเป็นผืนหนัง ส่วนคนที่ชังเราไม่มีค่าเทียบเท่าผืนเสื่อ คนพังเพยนี้เป็นสุภาษิตแฝงข้อคิดที่ดีนะ ท่านสอนให้เราอย่าไปสนใจคนเกลียด ให้สนใจคนที่รักเราดีกว่า แต่ทางที่ดี ก็ทำตัวให้คนรักมาก ๆ คนเกลียดน้อย ๆ ล่ะดีที่สุด”

 

          แฮ็มกะแป็งเสริมขึ้นว่า “อย่างกลอนสุนทรภู่ยังว่าเลยครับ ที่ว่า...เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก  จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา”

 

          “ปากคนน่ะเป็นอวัยวะที่น่ามหัศจรรย์ของร่างกายนะ เธอว่าไหม? สิ่งที่ปากนำเข้าตัวของเราก็คืออาหาร ปากกินอาหารดีก็ดีต่อสุขภาพ ปากกินอาหารไม่ดีก็มีผลร้ายต่อร่างกาย” อาจารย์วิชชาพยักหน้าพูดยิ้ม ๆ “ส่วนสิ่งที่ปากนำออกจากร่างกายก็คือคำพูด พูดดีเป็นศรีศักดิ์ พูดไม่ดีอาจจะไม่เป็นศักดิ์ศรี ดังนั้นไม่ว่าจะเอาอะไรเข้าปาก หรือเอาอะไรออกจากปาก ต้องคิดต้องระวังให้ดี” 

 

 

 

คำยืนยันของเจ้าของนิยาย

✓ เรื่องนี้ฉันแต่งขึ้นเอง

คำวิจารณ์

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเขียนวิจารณ์ได้


รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
คำวิจารณ์เพิ่มเติม...

โหวต

เนื้อเรื่องมีความน่าสนใจ
0 /10
ความถูกต้องในการใช้ภาษา
0 /10
ภาษาที่ใช้น่าอ่าน
0 /10

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถโหวดได้


แบบสำรวจ

 

ไม่มีแบบสำรวจ

 

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา