ยุคันตวาต (ลมสิ้นยุค)

9.4

เขียนโดย PingJa

วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เวลา 23.49 น.

  152 ตอน
  11 วิจารณ์
  110.53K อ่าน

แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2557 20.02 น. โดย เจ้าของนิยาย

แชร์นิยาย Share Share Share

 

150)

อ่านบทความตามต้นฉบับ อ่านบทความเฉพาะข้อความ

 

 

 

===============================================

 

 

        " "

 

          วิพากษ์ประวัติศาสตร์...เรื่องจริงเบื้องหลังนิยาย

 

          ตอนที่ ๑๓ ...ราชศาสตราที่สาปสูญ...

 

       

          ปริทรรศน์แรก...ความแค้นของชาวมอญผู้สิ้นชาติ และเจ้าหญิงมอญผู้สาปสูญ

 

          สำหรับความแค้นเคืองของชาวมอญนั้น ผมต้องขอเล่าย้อนถึงช่วงสมัยที่มอญยังคงเรืองอำนาจในอาณาจักรพม่า และเหยียบจมูกชาวพม่าทุกคนด้วยการใช้เมืองที่พระเจ้าตะเบงชะเวตี้และพระเจ้าบุเรงนองทรงสร้่างขึ้นเป็นเมืองหลวง...ใช้หงสาวดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเป็นเมืองหลวงของชนชาติมอญ...นำโดย อ่องซา หรือ พระยาทะลา ขุนพลชาวมอญเชียงใหม่ผู้สืบทอดราชสมบัติต่อจาก พระเจ้าสมิงทอพุทธเกศ ทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดของประวัติศาสตร์ชนชาตมอญ

 

          ในสถานการณ์ที่ชนชาติมอญฮึกเหิมถึงขีดสุด ราชวงศ์พม่าเจ้านายฝ่ายพม่าได้แก่ราชวงศ์ตองอูที่สืบทอดเชื้อสายมาตั้งแต่สมัยหลังพระเจ้านันทบุเรงก็อยู่ในสภาพย่ำแย่ถึงขีดสุด...พม่าเสียเมืองบริวารไปทีละเมืองๆ จนกระทั่งกองทัพมอญล้อมกรอบเมืองอังวะอันเป็นเมืองหลวงและที่มั่นสุดท้าย...

 

          และด้วยความอ่อนแอของราชวงศ์ตองอู ในปี พ.ศ. ๒๒๙๕ (ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) เมืองอังวะจึงถูกตีแตก ...กองทัพมอญคุมตัวอดีตกษัตริย์ มหาธรรมราชาธิบดี และบรรดาพระญาติไว้ได้เกือบทั้งหมด (ยกเว้นพระราชโอรส ๒ พระองค์ที่หนีไปยังกรุงศรีอยุธยาได้ทัน) มาเป็นเชลยศักดิ์ ก่อนที่กษัตริย์พม่าผู้พ่ายแพ้จะถูกสำเร็จโทษในอีก ๒ ปีถัดมาจากผลพวงของกลุมกบฎอ่องไจยะหรือพระเจ้าอลองพญานั่นเอง

 

          แต่การประหารกษัตริย์พม่าและบรรดาพระญาติราชวงศ์ตองอูทั้งหลายของมอญกลับสร้างประโยชน์ให้แก่อ่องไจยะอย่างคาดไม่ถึง เพราะเมื่อไร้เจ้านายฝ่ายพม่าเก่า อ่องไจยะจึงไร้ซึ่งคู่แข่งทางการเมืองอีกต่อไปและตั้งตนเป็น พระเจ้าอลองพญา จอมกษัตริย์ผู้เป็นขวัญกำลังใจให้แก่กบฎชาวพม่า ...ในขณะที่ชาวพม่าผู้เคยแตกกระจายไปคนละทิศละทางกลับมามีศูนย์รวมจิตใจอีกครั้งและฮึดสู้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

 

         เหตุการณ์ยิ่งเข้าข้างพระเจ้าอลองพญาเข้าไปอีก เมื่อไทย หรืออโยธยาในเวลานั้นยกกองทัพเข้ามาและเข้าตีตะนาวศรีอันเป็นอาณาเขตชายแดนของหงสาวดีได้...พระมหาอุปราชาแห่งพะโค(หงสาวดี) คิดว่ากบฏอ่องไจยะเป็นเพียงหัวหน้าหมู่บ้านเล็กๆ และทำการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงที่สุด ...พระองค์ทรงตัดสินพระทัยออกจากอังวะและกลับเมืองหงสาวดีด้วยกองกำลัง ๒๐,๐๐๐ นายและกองเรืออีกนับไม่ถ้วนเพื่อเตรียมรับศึกไทย ซึ่งทำให้พระเจ้าอลองพญาสบช่องนำกองทัพ หมู่บ้านเล็กๆ เข้าตีอังวะแตก แม้หงสาวดีจะเริ่มคิดได้และส่งกองทัพเข้าปราบปรามแต่ไม่ได้ช่วยอะไรแม้แต่น้อย

 

          ไม่ใช่แค่อังวะ แต่ทั้งแปร ดากอง(ย่างกุ้ง) เมืองตลอดลุ่มอิรวดีทั้งหมดก็อยู่ภายใต้อุ้งหัตถ์ของพระเจ้าอลองพญาหมดสิ้น ...จนกระทั่งถึงคราวของเมืองหงสาวดี พระองค์ทำการล้อมเมืองจนประชาชนอดอยากปากแห้ง เมืองใกล้จะแตกอยู่รอมร่อ

 

       ...ในคราวนั้นพระยาทะลาได้พยายามหาหนทางเจรจา พระองค์ให้คณะพระสงฆ์มาเจริญไมตรีและขอสงบศึก ...ทั้งนี้ ยังส่งพระราชธิดาของพระองค์เอง ไปเพื่อเป็นกำนัลแก่ไมตรีนี้ด้วย แม้ ขุนพลทะลาบาน ผู้ซึ่งได้หมั้นหมายกับเจ้าหญิงองค์นี้จะทัดทานแต่ไม่ประสบผล ...ในราตรีนั้นเจ้าหญิงแห่งมอญได้ถูกนำตัวไปถวายแก่พระเจ้าอลองพญาพร้อมกับพระมหาอุปราชาและล้อมรอบโดยนางกำนัลร้อยคน...

 

          แต่แล้วด้วยการตัดสินใจที่ผิดพลาดอีกครั้ง กษัตริย์มอญคิดจะอาศัยช่วงเวลาที่กองทัพพระเจ้าอลองพญาผ่อนคลายลงจากการสงบศึก ฉีกสัญญาเสียเองด้วยการบุกเข้าตีทัพพม่าแบบสายฟ้าแล่บ...แต่ทั้งๆที่ไม่ระวังตัว แต่พม่าก็ยังต้านทานไว้ได้ ถึงจะเสียไพร่พลไปอย่างมากมายก็ตาม...พระเจ้าอลองพญาพิโรธเป็นฟืนไฟ และบุกตีหงสาวดีเต็มกำลัง ...ทหารมอญนับพันนับหมื่นถูกฆ่าตาย ชาวเมืองถูกจับเป็นเชลย ประตูเมืองทุกประตูที่สร้างโดยพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้และพระเจ้าบุเรงนองถูกทำลายย่อยยับ...และพระองค์ยังรับสั่งประหารพระสงฆ์มอญเกือบทั้งหมด! ในข้อหาไร้ซึ่งความสัตย์จากเหตุการณ์เจรจาสงบศึกและไม่ยึดมั่นในทางคลองธรรม! 

 

          ชาวมอญสิ้นชาติ!...เจ้าหญิงมอญองค์สำคัญหายสาปสูญไปจากหน้าประวัติศาสตร์!

 

          ถ้าจะให้พูดให้ถูกต้อง...คงไม่ใช่แค่พม่าหรอก แต่เป็นเพราะไทยด้วย ที่ทำให้มอญที่เรืองอำนาจในพม่าสูญเสียทุกอย่าง...และที่อโยธยายังไม่รู้ ก็คือพระเจ้าอลองพญาไม่ได้พอพระทัยแค่รวบรวมพม่าให้เป็นปึกแผ่นเท่านั้น

 

          ไม่กี่ปีถัดมา ประวัติศาสตร์เล่นตลกร้ายอย่างที่สุด จากชนวนเหตุของชาวมอญอพยพ พระเจ้าอลองพญาสบช่องประกาศศึก!

 

        ...อโยธยา...คือที่หมายถัดไป!

 

 

 

 

          ปริทรรศน์ที่ ๒ ...การประลองของ(ว่าที่) ๒ จอมกษัตริย์...ว่าด้วย กองทัพโจร หรือ พิชัยสงครามสมัยใหม่?

 

          หลังจากเขียนในตอนที่ผ่านมาจบ ฉากที่ผมเขียนไปตื่นเต้นไปที่สุดไม่ใช่ฉากที่ไกรโดนหักหลัง หรือฉากที่พระแสงดาบคาบคาบค่ายปรากฎขึ้นเพื่อช่วยสิน แต่เป็นฉากที่ว่าที่พระเจ้าตากสินกับว่าที่พระเจ้ามังระประลองกันตรงๆต่างหาก

 

          เพราะตามประวัติศาสตร์แล้ว...หลังจากต่างฝ่ายต่างขึ้นครองราชย์ จอมกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ไม่เคยเผชิญหน้ากันในการศึกสงครามเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งๆที่อยู่ร่วมสมัยเดียวกันและเกิดศึกสงครามกันนับไม่ถ้วนแท้ๆ!

 

          มันทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในช่วงเสียกรุงครั้งที่ ๒ ที่พระเจ้ามังระมิได้เสด็จกรีฑาทัพมาเองอย่างทัพกษัตริย์ (เพราะติดศึกที่กำลังจะเกิดกับจีน) แต่ทรงรับสั่งให้เนเมียวสีหบดีและมังมหานรธานำกองทัพมาแทน...ทัพทั้งสองถูกตราหน้าจากนักประวัติศาสตร์ไทยสำคัญหลายคน ไม่เว้นแม้แต่พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยอย่าง กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่กล่าวถึงทัพทั้ง ๒ อย่างรุนแรงว่า เป็นเพียงแค่ ทัพโจร! หาใช่ทัพกษัตริย์อย่างสมพระเกียรติไม่

 

          แต่มันจะใช่อย่างที่ว่าจริงๆหรือ? ...เพราะหลังจากที่พระเจ้าตากสินตีก๊กต่างๆ รวบรวมแผ่นดินไทยเป็นปึกแผ่นได้แล้ว พระองค์ก็ไม่เคยเสด็จไปการสงครามกับราชอาณาจักรใกล้เคียงด้วยตัวพระองค์เองเลยซักครั้งเช่นกัน...ทั้งการตีหัวเมืองใต้ ทั้งการตีราชอาณาจักรลาว ก็ล้วนแล้วแต่เป็นกองทัพที่มีราชโองการให้ขุนพลไปตีให้ทั้งหมดทั้งสิ้น

 

          ไล่มาจนถึงยุคสมัยของกรุงรัตนโกสินทร์ ...การตีเขมร ตีปัตตานี รุกรานลาวหลวงพระบางจนกระทั่งได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมาประดิษฐานอยู่ในประเทศไทย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของแม่ทัพนายกอง ไม่ใช่ ทัพกษัตริย์อันสมพระเกียรติ ทั้งสิ้นเช่นกัน

 

 

           นี่คือ ทัพโจร หรือ พิชัยสงครามสมัยใหม่ กันแน่?

 

 

           ผมไม่อาจจะเป็นผู้ที่ตัดสินได้หรอกครับว่าสิ่งไหนถูกสิ่งไหนผิด...ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ควรจะศึกษาผ่าน ดวงตา ของคนที่อยู่ในประวัติศาสตร์ยุคสมัยนั้น...ไม่อาจจะใช้ดวงตาของเราเองในการตัดสินได้...

 

 

           จะถูกหรือผิด...ผู้อยู่ร่วมสมัยแห่งประวัติศาสตร์เท่านั้น คือผู้ตัดสินเอง

 

 

 

          ปริทรรศน์ที่ ๓ ...พระแสงดาบคาบค่าย ราชศาสตราที่หายสาปสูญ

 

          สำหรับผู้ที่ศึกษาหรือรู้จักเครื่องราชศาสตราวุธต่างๆที่มีในปัจจุบัน เราจะเห็นถึง ๓ ราชศาสตราสำคัญที่บันทึกและเรืองโรจน์อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของรัชสมัยสมเด็จพระนเรศ หรือพระนเรศวรมหาราช อย่าง ...พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง ...พระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่าย ...และพระแสงดาบคายค่าย ที่พระองค์เคยใช้เพื่อปีนขึ้นปล้นค่ายพระเจ้านันทะบุเรงด้วยตัวพระองค์เอง

 

          พระแสงทั้่ง ๓ โดยเฉพาะพระแสงดาบคายค่ายนี้ได้ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตลอดมา


       
          จนถึงในสมัยรัชกาลที่ ๖ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสงครามกับเยอรมันออสเตรียฮังการีในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๐ เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๑ พระแสงดาบคาบค่ายก็มีบทบาทร่วมด้วย กล่าวคือหลังจากลงพระนามประกาศสงครามแล้ว ในวันรุ่งขึ้นทรงจัดขบวนพยุหยาตราเสด็จไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามประเพณีของบูรพกษัตริย์ที่จะไปราชการสงคราม ในการเสด็จครั้งนี้พระองค์ทรงเครื่องด้วยชุด “มหาพิชัยยุทธ” ซึ่งจมื่นอมรดรุณารักษ์ได้บรรยายไว้ว่า

       


          " อันเครื่องทรงดังกล่าวซึ่งมีชื่อ “มหาพิชัยยุทธ” อันเป็นเครื่องสำหรับกษัตริย์ทรงในยามออกศึกสงครามนี้ ประกอบด้วยพระภูษาม่วงไหมสีแดงเลือดนก ทรงนุ่งโจงกระเบนแบบไทยเดิม ฉลองพระองค์แพรสีแดงเช่นเดียวกัน แบบผ่าอกครึ่ง กลัดกระดุมโลหะหัวเม็ด คอตั้งแบบราชการ มีจีบรอบไหล่เล็กน้อย แขนยาวแบบราชการพับปลายข้อมือ ชายฉลองพระองค์นี้ยาวคลุมลงมาเหนือพระชงฆ์เล็กน้อย มีผ้าคาดฉลองพระองค์ผูกห้อยชายไว้ด้านซ้าย ถุงพระบาท รองพระบาทสีแดงทั้งชุด บนพระอังสาเบื้องขวาสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระสังวาลนพรัตน์ราชวราภรณ์ พระหัตถ์เบื้องซ้ายทรงถือ พระแสงดาบคาบค่าย ทรงทัดใบสน พระหัตถ์ขวาทรงถือใบยอ แต่ไม่ทรงพระมาลา "
       

 

           นอกจากเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องทรงชุดมหาพิชัยยุทธแล้ว พระแสงดาบคาบค่ายยังถือเป็นพระแสงสำคัญองค์หนึ่งในหมู่พระแสงรายตีนทอง สำหรับให้มหาดเล็กเชิญตามเสด็จในพระราชพิธีใหญ่ๆ ทั้งยังเป็นพระแสงที่ใช้จุ่มลงในหม้อน้ำพระพุทธมนต์ต่อหน้าพระมหามณีรัตนปฏิมากร ในพิธีอ่านโองการแช่งน้ำในวันถือน้ำพิพัฒน์สัตยาอีกด้วย 

   

           ด้วยความสำคัญดังกล่าว ทำให้หลายๆคนเข้าใจผิดว่าพระแสงดาบนี้คือพระแสงดาบของจริงที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ในความจริงแล้ว พระแสงดาบพระองค์จริงนั้นได้หายสาปสูญไป ทั้งยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหายสาปสูญไปในเวลาไหน แต้ได้สันนิษฐานกันว่าหายไปตอนเสียกรุงครั้งที่ ๒ และไม่พบร่องรอยอีกต่อไป...จึงมีการบันทึกว่าเพื่อสร้างขวัญกำลังใจและรักษาราชประเพณีที่พยายามสืบทอดมาจากในสมัยอยุธยาแต่ในสมัยอยุธยา  ... ร.๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้ทรงจำลองราชศาสตราดังกล่าวขึ้นมาใหม่แทนพระแสงองค์เดิมที่สาปสูญ และก็เป็นหนึ่งในเครื่องสูงที่ใช้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกองค์พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี มาตั้งแต่สมัย ร.๒ เป็นต้นมา...

 

            

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

         

 

คำยืนยันของเจ้าของนิยาย

✓ เรื่องนี้เป็นบทความเก่า ยังไม่ได้ทำการยืนยัน

คำวิจารณ์

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเขียนวิจารณ์ได้


รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
คำวิจารณ์เพิ่มเติม...

โหวต

เนื้อเรื่องมีความน่าสนใจ
9.7 /10
ความถูกต้องในการใช้ภาษา
9.3 /10
ภาษาที่ใช้น่าอ่าน
9.1 /10

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถโหวดได้


แบบสำรวจ

 

ไม่มีแบบสำรวจ

 

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา